ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023

Last updated: 12 มี.ค. 2567  |  157 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023

Day 1 : วันแรก Pick A Craft พาไปชมงานศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย : Chiangrai international art museum CIAM พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นอาคารร่วมสมัยสี่ชั้นครึ่ง ประกอบด้วย หอคอยคู่ ดำ / ขาว เสมือนตัวแทนของ 2 ศิลปินแห่งชาติ ชาวเชียงราย อ.ถวัลย์ ดัชนี แห่งบ้านดำ และ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แห่งวัดร่องขุ่น (วัดขาว) โดย CIAM จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยและต่างชาติทั้งสิ้น 14 ศิลปิน


Thailand Biennale เป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จัดขึ้นทุก 2 ปี​ ตามแนวทางและความหมายของคำว่า ‘เบียนนาเล่' ซึ่งมาจากภาษาอิตาลี ครั้งนี้ จังหวัดเชียงราย ได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดงานในครั้งที่ 3 ต่อจาก กระบี่ (2018) และ โคราช (2021) ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก (The Open World)” โดยมี ฤกษ์ฤทธิ ตีระวนิช ร่วมกับ กฤติยา กาวีวงศ์ ทําหน้าที่ ผู้อํานวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วยภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ และ มนุพร เหลืองอร่าม ร่วมนำเสนอประเด็นหลากหลายรูปแบบ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จนถึงธรรมชาติในเชียงราย เพื่อ 'เปิด' การรับรู้ทางศิลปะให้กับผู้คน ผ่านผลงานศิลปะของศิลปินไทยและต่างชาติ จํานวน 60 คน จาก 21 ประเทศ โดยนิทรรศการหลัก (Main Venues) 10 แห่ง จัดแสดงใน ในอำเภอเมือง และ อีก 7 นิทรรศการหลัก ในอำเภอเชียงแสน พร้อมด้วย พาวิลเลียน (Pavilion) อีก 13 แห่ง ตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567

ขอบคุณ Baan Mai Kradan Hostel ที่อำนวยความสะดวกเรื่องที่พักระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวชมงาน Biennale Chiangrai ในครั้งนี้ ทางเพจจะนำเสนองานศิลปะที่น่าสนใจจากงาน Biennale ในตอนถัดๆไป อย่างต่อเนื่อง

--------------------

Day 2 : วันนี้เราเลือกเดินทางมาชมงานเบียนนาเล่ที่ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ซึ่งก่อตั้งโดย ท่าน ว.วชิรเมธี สถานที่จัดแสดงนิทรรศการหลัก (Main Venue) อีกแห่ง ที่เราสนใจงาน Installation Art หลายชิ้นที่เป็นไฮไลต์หาชมได้ยากของศิลปินระดับประเทศ 6 ท่าน ถูกคัดเลือกมาสร้างคอนเซ็ปป์งานในบริบทที่สงบแวดล้อมด้วยธรรมชาติและข้อคิดทางธรรม

เริ่มจากด้านหน้าทางเข้าที่ต้อนรับผู้ชมด้วยงานจัดวางขนาดใหญ่บนลานกว้าง "นิพพานเมืองแก้ว, The 4 Noble Truths" โดย ชาตะ ใหม่วงค์ ที่ศิลปินต้องการสื่อคำสอนเรื่อง อริยสัจ 4 ในพระพุุทธศาสนา ผ่านซากต้นกระบกยักษ์ 4 ต้น ที่มีอายุกว่า 200 ปี

เดินต่อไปที่วิหารไม้ ด้านในมีผลงานของ เซน เท ศิลปินชาวสิงคโปร์ กับ "The Imperative Landscape: Mapping Spiritual Order in Mountain Topography" ที่จัดองค์ประกอบของศิลปะจัดวางที่มีความกลมกลืน และสร้างมุมมองของความสงบของวิหารไม้ได้อย่างอัศจรรย์

จากนั้นเข้าสู่พื้นที่ภายในมี งานประติมากรรม "สวนแห่งความเงียบ, Garden of Silence" โดย สนิทัศน์ ประดิษฐทัศนีย์ ที่สะกดผู้เข้าชมด้วย 'หอคอยล่องหน' ในสวนยางพารา 108 ต้น ซึ่งเป็นงานที่ถูกแชร์ และพูดถึงมากที่สุดงานหนึ่งใน Thailand Biennale ครั้งนี้!

ไม่ไกลจากวิหารไม้ เราพบผลงานของ ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินชาวเชียงราย กับผลงาน "ที่พึ่ง, Sanctuary" ที่ศิลปินสนใจเกี่ยวกับความเชื่อของมนุษย์ โดยสื่อผ่านเครื่องสักการะ และการสร้างบรรยากาศในห้องต่างๆเป็น เรื่องราวของพลัง, ความศรัทธา, ความปิติ, การเห็นและความรู้สึก จนสุุดท้ายเป็นความว่างเปล่าที่เกิดจากการปล่อยวาง

“Belief is like the wind” ของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง งานจัดวางที่ต้องการสร้างการรับรู้จากสภาพแวดล้อมของ แสงแดด ลมธรรมชาติ ในพื้นที่ ผ่านองค์ประกอบของ โครงไม้ ก้อนหิน เชือก ระฆัง ในบรรยากาศเสียงร้องกล่อมลููกของหญิงชาวปกาเกอะญอจากชุุมชนห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย

ใกล้ๆกันมีศาลาไม้ไผ่ "Pavilion of Perseverance" ของ กรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ ประจำปี พ.ศ. 2560 กับความน่าสนใจในการสื่อความคิดทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของศิลปิน ไปสู่กระบวนการใช้วัสดุธรรมชาติอย่าง ไผ่ ในการสร้างงานที่สามารถจัดวางภายนอกได้อย่างดีเยี่ยม

นอกจากนั้นยังมี อาคารไม้ที่จัดแสดงผลงานประติมากรรม ของกลุ่ม Korean Pavilion และงานศิลปะที่สื่อผ่านปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 ของกลุ่ม แม่หญิงอาร์ตติสคอลเลคทีฟ

TIP : ควรมีเวลาเข้าชมงาน 1-2 ชม. การเดินทาง ใช้บริการรถ (Free Bus Service) ของผู้จัดงานจากในตัวเมือง หรือสถานีหลัก วัดร่องขุ่น ขอบคุณ Baan Mai Kradan Hostel อีกครั้งสำหรับที่พักในระหว่างเดินทางทริปนี้

--------------------

Day 3 : วันนี้เราออกจากที่พักเดินทางหลังทานอาหารเช้า มุ่งหน้าสู่ เชียงแสน สถานที่จัดงานหลักอีกแห่งของ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 เพื่อเข้าชมงานใน Main Exhibitions 7 แห่ง ภายในและรอบๆตัวเมือง โดยภัณฑารักษ์เลือกนำเสนองานที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสน ที่เป็นรากฐานทาง ศิลปะ วัฒนธรรม ของเชียงรายในเวลาต่อมา

ช้างแวร์เฮ้าส์ (โกดังห้วยเกี๋ยง) ด้านหน้าทางเข้า เราพบงาน "Bad Spirit Who Makes People Sick 2" ที่สื่อความเชื่อในจิตวิญญานของชาวม้งผ่านสัญลักษณ์บนผืนผ้า ของ เชียว ซ่ง ศิลปินม้งอาศัยอยู่ที่หลวงพระบาง ตรงเข้าไปด้านใน งานของ พาโบล บาร์โธโลมิว "Weaving Chakma: An Imagined DNA Map of the Chakma People (พ.ศ. 2560 – 2562, ต่อเนื่อง)" ศิลปินช่างภาพที่นำเสนอชุุมชนพื้นเมืองชาวจักมาในอินเดีย โดยภายในโกดังยังมีงานที่ 'เปิด' ให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจความเป็นเชียงรายที่เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ ธรรมชาติ ผู้คน ความคิด

โรงเรียนบ้านแม่มะ ถูกเลือกเป็นสถานที่นำเสนองาน "Motion Pictures" ของ เจ้ย อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุุล ผู้กำกับมือรางวัลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ที่มาลงพื้นที่และเลือกห้องเรียนร้างแห่งนี้ มาฉายหนัง "ผีตาโบ๋" ในบรรยากาศที่แปลกใหม่ อย่าง ฉากลิเก ม่านขาวของโรงภาพยนต์ ยิงผ่านเครื่องฉายหนัง!

ศรีดอนมููล อาร์ตสเปซ สถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปะที่ก่อตั้งโดย ศิลปินรุ่นใหญ่ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ ที่ย้ายมาพำนักที่ดอยสะโง้ หลังเกษียณจากกรุงเทพ กับงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ "พระมาลัยโปรดสัตว์ 2566" ที่ได้แรงบันดาลใจจาก เรื่อง พระมาลัย บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม

ศููนย์ดิจิทัลชุมชน ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ที่นำเสนองานวิดีโอ ศิลปะจัดวาง หนังสั้น และงาน VR (Virtual Reality) ของ สวี่ เจีย เหว่ย ข้างศูนย์ดิจิทัล เราพบฉากขนาดยักษ์ "พลัดถิ่น ดินแดนใคร" ตั้งตระหง่านเรียบฝั่งแม่น้ำโขง ของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล & สตูดิโอเค ที่นำเสนอภาพผู้คนหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับเชียงราย และหนังสั้นที่เก็บบันทึกความทรงจำของผู้คนในเชียงแสน

โบราณสถานหมายเลข 16 ตั้งอยู่ในตัวเมือง มีผลงานของกลุ่ม "บ้านนอก" ศิลปะกลางแจ้งในวัดร้าง ในรูปแบบสถาปัตยกรรมเป่าลมแบบไร้รากฐานสองชิ้น มีรููปทรงสถูปเจดีย์ (Stupa) และรูปทรงฐานวิหาร เปรียบความคงอยู่ของวัตถุที่มีสภาวะความเสื่อมสลาย และเกิดขึ้นใหม่ วนเวียนต่อเนื่องไป

วัดป่าสัก เป็นโบราณสถานที่สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามของ เจดีย์ปูนปั้น สถาปัตยกรรมล้านนา โดยสถานที่มีผลงานของศิลปินหลายท่าน อย่าง จิตติ เกษมกิจวัฒนา กับ "ร้อยกรองกาล : Kala Ensemble" ที่นำ "หน้ากาล" และ "หน้ากลองสะบัดชัย" มาเสนอในบริบทที่กลมกลืนกับสถานที่ "Three Parts" ของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ นำเสนอมิติของพื้นที่ว่างในแกนนอนและแกนตั้ง มีต้นแบบมาจากภาพบุคคลในท่านั่งสมาธิ

--------------------

Day 4 : เรากลับมาพักในตัวเมืองเชียงราย เพื่อเก็บตกงาน Thailand Biennale ที่เหลือทั้งในและรอบตัวเมือง โดยเริ่มจากการเดินไปชมงาน 2 แห่งใกล้ๆที่พักก่อน อย่าง โกดังยาสูบ และบ้านสิงหไคล ก่อนจะขยับออกไปที่ ศาลาว่าการเก่า กับตึก RJJ ซึ่งไกลออกไปไม่มานัก จากนั้นจึงขับรถออกไปชมงานรอบนอกตัวเมืองที่ เรียวกังคาเฟ่ วัดร่องขุ่น ศาลาสล่าขิ่น จ. พรหมมินทร์ และห้องสมุดรถไฟเชียงราย

โกดังยาสูบ: ด้านหน้าทางเข้าเราพบ บอลลูนลมรูปร่างคล้ายยานอวกาศ ซึงเป็นศิลปะจัดวาง "Museo Aero Solar" ของ โทมัส ซาราเซโน ที่ปะทะผู้เข้าชมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเราสามารถเข้าไปสัมผัสมิติพิเศษด้านในของบอลลูนซึ่งทำจากเศษถุงพลาสติกใช้แล้วที่รวบรวมเก็บมาโดยศิลปินและคนในพื้นที่ มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ นอกจากนั้นยังมีงานที่น่าสนใจอย่าง "We are flying" ของศิลปินชาวญี่ปุ่น ชิมาบุกุ ร่วมกับชุมชน มาช่วยกันทำว่าวขนาดเท่าตัวคนจริง เพื่อสะท้อนการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ! นอกจากนั้นภายนอกอาคารยังมีงานสีสันสดใส "Joy and Grace" ของศิลปินร่วมสมัย อัททา ความิ "A Ballast Flora Garden: Weeksville Heritage Center" ของ มาเรีย เทเรซา อัลเวซ ที่สนใจเรื่องการทำลายผืนป่าบริเวณริมกก และ "Somewhere I Read" ในรูปแบบ performance show โดย อาร์โต ลินด์เซย์

บ้านสิงหไคล: บ้านมิชชันนารีเก่าที่จัดแสดงงาน “Zomia in the Cloud” ของ Production Zomia กลุ่มศิลปินในภูมิภาค เช่น ไทย ลาว และเมียนมาร์ ที่ต้องการพื้นที่สื่อสารความคิด การใช้ชีวิต ของผู้ลี้ภัย ชนกลุ่มน้อย ผู้เข้าชมยังสามารถขึ้นไปชมวิดิทัศน์ในห้องใต้หลังคาซึ่งไม่ได้เปิดให้เข้าชมบ่อยนัก!

ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า: จัดแสดงงาน "Weekend" ของ ไมเคิล ลิน บนผนังด้านหน้าอาคาร แสดงลวดลายและสีสันจากผ้าจากชาวเขาที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่แห่งนี้

ตึก RJJ (อดีตห้องเยาวชนการค้า): Rubanah กับนิทรรศการ "Don’t be afraid to walk alone" โดยกลุ่มศิลปินชาวอินโดนิเซีย กับศิลปะจัดวาง ที่ใช้เก้าอี้เก่า และของใช้ในห้องพักของโรงแรมเก่า มาจัดแสดง เพื่อสะท้อนร่องรอยอดีตและความทรงจำของโรงแรมนี้

วัดร่องขุ่น: จัดแสดงงานประติมากรรม Skipper (Kneedeep) และภาพวาด Untitled 3 ชิ้น ของ เซอริน เชอร์ปา ที่มาจากแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของชาวทิเบต เดินไปอีกนิดพบศิลปะจัดวางของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย “2557 (Painting with history in a room filled with men with funny names 2)” ในหอศิลป์วัดร่องขุ่น

เรียวกังคาเฟ่: เราขับรถออกไปด้านนอกเมือง ไปชมงานของ กลุ่มศิลปินแม่ลาว ที่นำเสนองาน "แม่ลาวเล่นกับโต้ง" บนทุ่งนา เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการเกษตรและสอดประสานกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผ่านศิลปะจัดวาง ดนตรี การแสดงสด ได้อย่างน่าสนใจ

ศาลาสล่าขิ่น เปิดโลก จ. พรหมมินทร์: ที่เรามารับชมเรื่องราวและประวัติของ จำรัส พรหมมินทร์ หรือ สล่าขิ่น  ศิลปินที่เรียนรู้ศิลปะด้วยตัวเอง กับการที่ถ่ายทอดชีวิตท้องถิ่น ชุมขนชาติพันธุ์ ทางเหนือ จากภาพถ่ายสู่งานจิตรกรรมได้อย่างสวยงาม

ขัวศิลปะ: จัดแสดงผลงานสีน้ำ “International Watercolor Painting Exhibition” กว่า 80 ผลงาน โดยกลุ่มศิลปินสีน้ำนานาชาติ

ห้องสมุดรถไฟเชียงราย: ภายในตู้รถไฟเราเข้าชม ผลงานวิดีโอ ”Every water is an island” โดยกลุ่ม โปกล็อง อะนาดิง ที่มาบันทึกภาพผืนน้ำ ที่มีแสงระยิบระยับสวยงาม แต่แท้จริงแล้วคือไมโครพลาสม่า จากโรงบำบัดน้ำเสียของเมือง เดินออกไปด้านนอกบริเวณสวนสาธารณะรอบบ่อบำบัด น้ำเสีย มีงาน “Anonymity” ที่นำเสนอชุดภาพถ่ายบุคคลของชาวเชียงรายถือ กระจกบนใบหน้าเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์กระทบกับเลนส์กล้องของศิลปิน กล่องไฟซึ่งออกแบบโดย ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินเชียงราย


Contact us:
Tel: 099-436-4446
Website: www.pickacraft.com
FB: Pick A Craft / Creative Overlapping Studio
IG: Pick A Craft
YouTube: www.youtube.com/channel/UCP3LdPHLsJRnOqUtgs8XSkA
*** Help us to subscribe if you'd like to follow our stories from the local villages that produce excellent handmade products in Thailand ***
#ThailandBiennale #ThailandBiennaleChiangRai #ThailandBiennaleChiangRai2023 #pickacraft #pickacraftchannel #worldofbestartandcraft #handmadeshop #handicraftshop #สินค้าแฮนด์เมด #สินค้าทํามือ #handmadeonline #handicraftonline #handicrafts #handmadegifts #CreativeOverlappingStudio #artandcraftstudio #designstudio #PremiumHandmadeProduct #designproducts

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้